วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

การฝึกอานาปานสติที่สมบูรณ์แบบ

การฝึกอานาปานสติ รู้ลมหายใจเข้าออก มูลนิธิบ้านธรรมธารา

การฝึกอานาปานสติที่สมบูรณ์แบบ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด หมวดๆ ละ ๔ ขั้น รวมเป็น ๑๖ ขั้น ดังนี้

หมวดที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (สติพิจารณากาย) มี ๔ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑ กำหนดลมหายใจ (ปชานาติ) โดยการกำหนดลมหายใจยาวทุกครั้งที่มีการหายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจ (ปชานาติ) โดยการกำหนดลมหายใจสั้นทุกครั้งที่มีการหายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๓ รู้ (ปฏิสังเวที) กายทั้งปวง คือ การระลึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าลมหายใจเป็นเครื่องปรุงแต่งร่างกายทุกครั้งที่หายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๔ การทำกายสังขารให้ระงับหรือสงบลง (ปัสสัมภยะ) โดยการกำหนดให้ลมหายใจสงบลงถึงที่สุดทุกครั้งที่หายใจเข้า -ออก

หมวดที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (สติพิจารณาเวทนา) มี ๔ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๕ รู้ (ปฏิสังเวที) ความรู้สึกปิติ คือ การเอาปิติ – ความรู้สึกที่เกิดจากขั้นที่ ๔ มากำหนดทุกครั้งที่หายใจเข้า -ออก

ขั้นที่ ๖ รู้ (ปฏิสังเวที) ความสุข คือ การเปลี่ยนจากปิติเป็นความสุขแล้วกำหนดความสุขนั้นทุกครั้งที่หายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๗ รู้ (ปฏิสังเวที) เวทนา คือ กำหนดข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งปิติและสุขคือเวทนา เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตเท่านั้นทุกครั้งที่หายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๘ การทำจิตสังขารหรือเวทนาให้ระงับลง (ปัสสัมภยะ) คือ การพยายามกำหนดการกระทำให้เวทนา ที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต จนกระทั้งไม่มีการปรับปรุงแต่งจิตทุกครั้งที่หายใจเข้า -ออก

หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (สติพิจารณาจิต) มี ๔ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๙ รู้ (ปฏิสังเวที) ลักษณะของจิต คือ กำหนดอยู่ที่ลักษณะของจิตนานาชนิด ที่กำลังเป็นไปหรือเปลี่ยนไปอยู่ในเวลานั้นทุกคร้้งที่หายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๑๐ ทำจิตให้ปราโมทย์ คือ กำหนดอยู่ที่การกระทำจิตให้อยู่ในอำนาจของเราในลักษณะที่เป็นความเบิกบานปราโมทย์

ขั้นที่ ๑๑ ทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ คือ กำหนดความคิดที่จิตให้อยู่ในอำนาจของเรา ในการที่เราสามารถทำให้มันตั้งมั่นได้ตามต้องการ

ขั้นที่ ๑๒ ทำจิตให้ปล่อย คือ กำหนดความคิดที่เราสามารถทำจิตให้ปลดเปลื้องจากสิ่งที่มากลุ้มรุมจิต

หมวดที่ ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (สติพิจารณาธรรมต่างๆ) มี ๔ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑๓ กำหนดความไม่เที่ยง (อนุปัสสิ) คือ กำหนดความไม่เที่ยงที่เรียกว่า อนิจจังของสังขารทั้งปวง เช่น ร่างกาย ลมหายใจ หรือความเปลี่ยนแปลงทางจิตทุกครั้งที่หายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๑๔ กำหนดความจางคลาย (วิราคะ) คือ กำหนดให้จิตลดหรือหลุดออกจากความยึดมั่นถือมั่น หรือกิเลสที่เป็นอารมณ์อยู่ในขณะนั้นที่มีการหายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๑๕ กำหนดความดับทุกข์ (นิโรธนะ) คือ กำหนดให้จิตคิดถึงความทุกข์ที่ดับลงไปอยู่ทุกคร้้งที่หายใจเข้า – ออก

ขั้นที่ ๑๖ ขั้นสุดท้าย สลัดสิ่งยึดมั่นถือมั่นทิ้งกลับไป (ปฏินิสสัคคะ) คือ กำหนดให้จิตสลัดสิ่งที่ตัวเรายึดมั่นกลับไปทุกครั้งที่หายใจเข้าออก เช่น ถ้าเคยเอาสิ่งของจากธรรมชาติมาครอบครองไว้ก็ให้เอากลับไปคืนเจ้าของ คือ ให้เป็นของธรรมชาติเหมือนเดิม

โปรแกรมการฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ

งานวิจัยห้องพระพุทธศาสนา โรงพยาบาลชลบุรี