วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

อริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อการหลุดพ้นจากกรรม

ตามแนวปฏิจจสมุปบาทเพื่อการหลุดพ้น เน้นกระบวนการเกิดทุกข์และการดับทุกข์

โดยที่การเกิดทุกข์อาจเริ่มที่ผัสสะ เวทนาหรือตัณหานั่น คือสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์เรียกว่าทุกข์สมุทัยส่วนการดับทุกข์จะเลือกศึกษาตามกระบวนการที่กล่าวแล้วนี้คือเมื่อเกิดเวทนา หรือตัณหา กระบวนการเกิดแห่ง ปฏิจจสมุปบาท นี้สามารถเกิดได้รวดเร็ว ภายในพริบตา เมื่อตาสัมผัสกับรูปเกิดจักขุวิญญาณ ชอบหรือไม่ชอบใจ เป็นสุขหรือทุกข์ในขณะนั้น ในสฬายตนวิภังคสูตร เป็นการมองความสัมพันธ์ขององค์มรรคที่สัมพันธ์กับกระบวนการรับรู้โลกในชีวิตประจำวันของมนุษย์หรือเป็นการแสดง ปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวันนั่นเอง โดยตัดตอนเอาเฉพาะช่วงสฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา ตรงจุดนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดพลิกผันหรือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางจริยธรรม กระบวนการรับรู้ตรงนี้เรียกว่า “อายตนิกธรรม” หมายถึง ธรรมอันเกี่ยวเนื่องด้วยอายตนะ หรือธรรมที่เป็นองค์ประกอบร่วมในกระบวนการรับรู้ทางอายตนะ มี๓๐ ประการ โดยแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ๕ กลุ่ม คือ

อายตนะภายใน ๖ หมายถึง ช่องทางรับรู้หรือแดนติดต่อกับอารมณ์ที่มีอยู่ภายในตัวมนุษย์มี๖ ช่องทาง คือ ตา หูจมูก ลิ้น กาย และใจ

อายตนะภายนอก ๖ หมายถึง แดนติดต่อภายนอก หรืออารมณ์ที่ถูกรับรู้ซึ่งเป็นของคู่กันกับอายตนะภายใน มี๖ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

วิญญาณ ๖ หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์หรือความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกัน มี๖ อย่างตามช่องทางที่รับรู้คือ วิญญาณทางตา จักขุวิญญาณ วิญญาณทางหูโสต-วิญญาณ วิญญาณทางจมูก ฆานวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น ชิวหาวิญญาณ และวิญญาณทางใจ มโน-วิญญาณ

ผัสสะ ๖ หมายถึง การถูกต้อง การกระทบ หรือความประจวบพร้อมกันแห่งองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ทำให้เกิดผัสสะ มี ๖ อย่าง คือ ผัสสะทางตา จักขุสัมผัส ผัสสะทางหูโสตสัมผัส ผัสสะทางจมูก ฆานสัมผัส ผัสสะทางลิ้น ชิวหาสัมผัส ผัสสะทางกาย กายสัมผัส และผัสสะทางใจ มโนสัมผัส

เวทนา ๖ หมายถึง การเสวยอารมณ์หรือความรู้สึกที่เป็นสุข ทุกข์หรือเฉยๆ อันสืบเนื่องมาจากการมีผัสสะทางอายตนะนั้น ๆ มี ๖ อย่าง คือ เวทนาเกิดจากผัสสะทางตา จักขุสัมผัสสชา เวทนา เวทนาเกิดจากผัสสะทางหูโสตสัมผัสสชา เวทนา เวทนาเกิดจากผัสสะทางจมูก ฆานสัมผัสสชา เวทนา เวทนาเกิดจากผัสสะทางลิ้น ชิวหาสัมผัสสชา เวทนา เวทนาเกิดจากผัสสะทางกาย กายสัมผัสสชา เวทนา และเวทนาเกิดอันเกิดจากผัสสะทางใจ มโนสัมผัสสชา เวทนา (Nyanatiloka, 1980)

ในบรรดาอายตนิกธรรมทั้ง ๕ กลุ่มเหล่านี้ธรรมใน ๓ กลุ่มแรก คือ อายตนะภายในอายตนะภายนอก และวิญญาณ ถือว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน สหชาตธรรม หมายความว่า ต้องมีการประจวบพร้อมกัน กระบวนการรับรู้จึงสำเร็จ จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้เช่น เมื่อตากระทบกับรูป แต่ขาดวิญญาณ การรับรู้ก็เกิดขึ้นไม่ได้เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ ๔ คือ ผัสสะ
เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาการที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มาประจวบพร้อมกันถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่เกิดผัสสะ สำหรับกลุ่มสุดท้าย คือ เวทนา เป็นกลุ่มแสดงถึงการเสวยอารมณ์ที่สืบทอดมาจากการมีผัสสะอีกทีหนึ่ง อาจจะเป็นความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉยๆ ก็ได้ดังพุทธพจน์ที่ว่า “จักขุวิญญาณ…เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุและอารมณ์คือรูปความประจวบกันแห่งธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย แห่งเวทนาจึงเกิด…”

พุทธพจน์ที่ปรากฏในสฬายตนวิภังคสูตร ชี้ให้เห็นว่า การที่บุคคลมีสติปัญญารู้เท่าทันกระบวนการรับรู้ตรงนี้หรือที่เรียกว่า “อายตนิกธรรม ” ก็คือการทำงานประสานสัมพันธ์ขององค์มรรคทั้ง ๘ โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนนำนั่นเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า

ทิฏฐิของบุคคลผู้มีธรรมอย่างนั้น รู้เท่าทันอายตนิกธรรม ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิความดำริของผู้มีธรรมอย่างนั้น ย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ ความพยายามของบุคคลผู้มีธรรมอย่างนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ สติของบุคคลผู้มีธรรมอย่างนั้น ย่อมเป็นสัมมาสติ สมาธิของบุคคลผู้มีธรรมเป็นอย่างนั้น ย่อมเป็นสัมมาสมาธิส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขาจัดว่าบริสุทธิ์ดีในเบื้องต้นทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้อริยมรรคมีองค์๘ นี้ของเขาย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ถ้ามีสติรู้เท่าทันเมื่อมีสิ่งมากระทบอายตนะทั้ง ๖ ทำให้ไม่เกิดความอยากหรือไม่อยากและถ้าเราใช้อริยมรรคมาปฏิบัติจะเป็นการดับเหตุแห่งกรรมให้ดับผลกรรมจะไม่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ขององค์มรรคในกระบวนการรับรู้ตรงนี้
(พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา),๒๕๔๓)

ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลหนึ่งที่จับเอากระแสปฏิจจสมุปบาทตรงกระบวนการรับรู้ทาง “ผัสสะ” มาเน้นย้ำมากเป็นพิเศษ อาจจะเรียกว่าเป็นงานสอนส่วนใหญ่ของท่านก็ได้ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า “เรียนเรื่องผัสสะ เรียนเรื่องมีสติควบคุมผัสสะกันให้เพียงพอ เป็นเรื่องสำคัญ

ที่สุดในหลักธรรมะของเรา อบรมให้มีสติสำหรับหยุดการปรุงแต่งของผัสสะให้ได้นี่แหละเรียกว่าเราจะสนองพุทธประสงค์” และว่าแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “กฎ” ก็มาจากผัสสะสติปัญญา ก็มาจากผัสสะ ความโง่ก็มาจากผัสสะ อะไรๆ ก็มาจากผัสสะ แล้วทำไมไม่สนใจกับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะนี้…ถ้าจะรู้อะไรจริง ต้องสนใจที่ผัสสะ โลกทั้งโลกใหญ่ๆ นี้สำเร็จอยู่ที่คำคำเดียวคือผัสสะ ” วาทะในการแสดงธรรมของท่านที่มักจะได้ยินบ่อยๆ เช่น “ความยึดมั่นใน ตัวกูของกู” ก็ดี“จิตว่างจากตัวกูของกู” ก็ดีวาทะเหล่านี้ล้วนแต่โยงใยอยู่กับการจับประเด็นตรง“ผัสสะ” แทบทั้งสิ้น เหตุผลที่ท่านเอาเรื่องผัสสะมาเน้นย้ำ ก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่นี่และเดี๋ยวนี้ สันทิฏฐิโก การปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ก็ต้องเริ่มต้นตรงผัสสะนี้เมื่อผัสสะเป็นจุดตั้งต้นของปัญหาความทุกข์การแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ แบบรวบรัดที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ทุกคนในชีวิตประจำวัน คือ การมีสติปัญญารู้เท่าทันกระบวนการรับรู้ตรงผัสสะนี้เมื่อหยุดกระแสแห่งผัสสะได้ความว่างจากตัวกู ของกูก็เกิดขึ้นทันทีแม้พระนิพพานก็เกิดขึ้น ตรงนี้ดังที่ท่านกล่าวว่า “อายตนะนั้น คือนิพพาน ก็หมายความว่า นิพพานก็เป็นเพียง สิ่งๆ หนึ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะรู้จักมันได้โดยทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ” สรุปว่า กรรมอันนำไปสู่ความหมดสิ้น ไปแห่งกรรมที่ผู้ปฏิบัติต้องประพฤติปฏิบัติตลอดเวลา กรรมเก่าก็จะค่อยๆ จางหายลงไป กรรมใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งไม่เหลือกรรมใดๆ ให้รับหมดอายุขัย และเข้าสู่พระนิพพานในที่สุด ซึ่งกรรมเก่าในที่นี้หมายถึงอายตนะ

สรุป

การที่มนุษย์จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ได้จึงต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์8 ดังเช่นท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวสอนและแนะนำให้รู้จักระวัง กระแสปฏิจจสมุปบาท สายเกิดทุกข์ตรงกระบวนการรับรู้ทาง “ผัสสะ” มาเน้นย้ำมากเป็นพิเศษ ถ้ามีสติปัญญารู้เท่าทันผัสสะก็จะสามารถดับทุกข์หลุดพ้นจากกรรมได้ซึ่งหลักปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์๘ กล่าวโดยย่อก็คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา และกล่าวย่อได้อีกเป็นสมถะและวิปัสสนา หรือ รูปกับนาม เมื่อปฏิบัติตามแล้ว มนุษย์ย่อมได้ประโยชน์ปัจจุบันประโยชน์ด้านคุณค่าชีวิต ประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิตรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต มีจิตใจเป็นอิสระโปร่งโล่งผ่องใส ไม่ถูกบีบคั้น คับข้องจำกัดด้วยความยึดติดถือมั่นหวั่นหวาดของตนเอง ปราศจากกิเลสเผาลนที่ทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว อยู่อย่างไร้ทุกข์ประจักษ์แจ้งความสุขประณีตภายในที่สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิงอันประกอบพร้อมด้วยความสงบเยือกเย็นสว่างไสวเบิกบานโดยสมบูรณ์

เรียบเรียงเนื้อหาและข้อมูลโดย.. มูลนิธิบ้านธรรมธารา

พระครูชลธารคุณากร (ถาวโร)

วัดกำแพง