วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ปฏิจจสมุปบาท ขั้นตอนการรู้แจ้งความจริงของพระพุทธเจ้า

ขณะเห็นก็มีสติรู้ทันว่ากำลังเห็น ขณะได้ยินก็มีสติรู้ทันว่ากำลังได้ยิน ขณะได้กลิ่นก็มีสติรู้ทันว่ากำลังได้กลิ่น ขณะลิ้มรสก็มีสติรู้ทันว่ากำลังลิ้มรส ขณะสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งก็มีสติรู้ทันว่ากำลังสัมผัส และ ขณะนึกคิดก็มีสติรู้ทันว่ากำลังนึกคิด

การศึกษาปฏิจจสมุปบาทจึงควรทำโดย 2 วิธี วิธีที่ 1 คือ การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทอย่างถูกต้องจากพระไตรปิฎก อรรถกถา และคำอธิบายของผู้ทรงความรู้ วิธีที่ 2 คือ การหมั่นมีสติเฝ้าดูการเกิดขึ้นของปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้ต่อเนื่องตามลำดับ

การเริ่มต้นหาความจริง: ขั้นตอนก่อนมาเป็นปฏิจจสมุปบาท 2 สาย

การเกิดของเจ้าชายราหุล เป็นขั้นตอนหนึ่งของการค้นหาความจริงที่อยู่ในปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวมานี้ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าพระพุทธเจ้าหรือหากจะพูดให้ถูกถึงตอนนั้นก็คือเจ้าชายสิทธัตถะทรงสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
ประจำวันของพระองค์มาตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงอยู่ในสถานะเป็นพระโพธิสัตว์ คือ ผู้ข้องอยู่ใน “โพธิ” หมายถึง ผู้ปรารถนาโพธิ โพธิคืออะไร ? คือ ปัญญารู้แจ้งสรรพสิ่งตามความเป็นจริง คำนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญญา
เป็นองค์ธรรมสำคัญในการตรัสรู้ (แต่มิได้หมายความว่า มีปัญญา อย่างเดียว ยังมีธรรมอื่นสนับสนุนอีก)

“โพธิ” มาจากรากศัพท์ว่า พุธฺ (budh) มีความหมายว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ในคัมภีร์ชั้นฎีกา มีการอธิบาความหมายทั้ง 3 นี้ให้สัมพันธ์กันว่า โพธิ คือ ปัญญารู้แจ้งสรรพสิ่งตามความเป็นจริงท าให้จิตตื่นจากกิเลส และเบิกบานเนื่องจากไม่มีกิเลส
ทำให้หม่นหมอง หลวงพ่อพุทธทาสให้ความสำคัญกับความหมายนี้มากถึงขั้นนำไปอธิบายขยายความว่า ความรู้แบบโพธินี้ ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา จึงทำให้ผู้เข้าถึงความรู้นี้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ ความสะอาดเกิดจากศีล ความสว่างเกิดจากปัญญาและความสงบเกิดจากสมาธิ และยังมีบางท่านให้ความหมายเพิ่มเติมจนเห็นภาพพจน์ว่า ปัญญาแบบโพธินี้เมื่อเกิดแล้วเบื้องต้นทำให้กิเลสลดและคุณธรรมเพิ่ม และในที่สุดคุณธรรมที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ขยายเต็มเนื้อที่ของจิตจนไม่มีเหลือให้กิเลสได้อาศัยอยู่

เรื่องการเข้าถึงปฏิจจสมุปบาท เรื่องที่น่าถามก็คือ โพธิ (ปัญญารู้แจ้ง) ของพระโพธิสัตว์เกิดได้อย่างไร ? ในพระสูตรต่าง ๆ ในสังยุตตนิกายมีระบุ “ทางเกิดโพธิ” ของพระโพธิสัตว์ซึ่งนำไปสู่การตรัสรู้ว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย แล้วเห็นว่าความแก่ความเจ็บความตายเป็น ทุกข์คือสภาวะบีบคั้นใหญ่ เพราะทำให้ต้องพลัดพลาดจากสิ่งที่รัก เห็นแล้วพระองค์ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมคนเรา (รวมทั้งสรรพสัตว์) ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ?
ระหว่างที่ยังไม่ตาย ทำไมคนเราต้องมีโสกะ(เสียใจ) ปริเทวะ (คร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ) อุปายาส (ความเครียด) ? สภาวะบีบคั้นเหล่านี้เกิดมาจากอะไร ?

สภาวะบีบคั้นทั้งหมดนี้พระองค์ทรงเรียกรวม ๆ ว่า “ทุกข์”และเป็นประเด็นที่พระองค์ทรงนำมาพิจารณาใคร่ครวญค้นหา จนกระทั่งทรงพบว่า ทุกข์ทั้งหมดนั้นมาจากการเกิด(ชาติ) เพราะเหตุใดหรือ ? เพราะว่ามี “การเกิด” นั่นเองจึงต้องมี แก่ เจ็บ ตาย จึงต้องมีโสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ดังนั้นการเกิดจึงเป็นทุกข์ใหญ่เพราะคอยตามบีบคั้น
ที่เห็นได้ชัดก็คือตามบีบคั้นให้เกิดมีชีวิตรูปร่างตัวตน แล้วยังตามบีบคั้นให้ตัวตนที่เกิดมาแล้วนั้นแก่ เจ็บ ตาย ในที่สุดพระองค์ก็ทรงนำทุกข์ทั้งหมดมาเป็นประเด็นพิจารณาใคร่ครวญเพื่อความรู้แจ้งต่อไปมีพระสูตรยืนยันเรื่องนี้ว่า พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงพิจารณาใคร่ครวญชีวิตของพระองค์และคนอื่น รวมทั้งพิจารณาใคร่ครวญถึงกามคุณ ที่พระองค์และคนอื่นเสพเสวยอยู่ และทรงเตือนพระองค์เองว่า เราเองทั้งที่ยังเกิดแก่เจ็บตาย ก็ยังพยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ยังมีเกิดแก่เจ็บตาย และทรงเรียกสิ่งที่มีเกิดแก่เจ็บตายนี้ว่า “กาม”

ขอกล่าวถึงความหมาย 2 ประการของ “กาม” คือ ความอยากได้ กับ สิ่งที่ทำให้จิตอยากได้

ความหมายแรกหมายถึง กามที่เป็นกิเลส ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้อยากได้ เรียกว่ากิเลสกาม (แปลว่า กิเลส คือความอยากได้) ความหมายหลัง หมายถึง วัตถุหรือสิ่งเร้า (object) ที่ปลุกเร้าจิตให้อยากได้ คือ กามคุณ 5 อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัสทางกาย) ทั้งภายใน(คือตัวเองแต่ละคน)และภายนอก(คือคนอื่น สิ่งอื่น สัตว์อื่น นอกจากตัวเอง)

แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ในช่วงนี้ พระโพธิสัตว์สิทธัตถะจะทรงเกิดโพธิขั้นเข้าใจเกี่ยวกับความหมายประการแรกของ “กาม” แล้วหรือไม่ ? แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนว่าพระองค์ทรงเกิดโพธิขั้นเข้าพระทัยแล้วว่า วัตถุกามสัมพันธ์อยู่กับเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตัวพระองค์เองก็เป็นวัตถุกามชิ้นหนึ่งที่ถูกกิเลสกามผลักดันให้แสวงหาวัตถุกามอื่น ๆ และทำให้ต้องพบกับความเสียใจคร่ำครวญ ความเครียด อันเนื่องจากต้องพลัดจากวัตถุกามที่ปรารถนา ประสบกับวัตถุกามที่ไม่ปรารถนาและการไม่ได้วัตถุกามสมปรารถนา

การที่ทรงเกิดโพธิขั้นนี้แหละจึงทำให้ทรงเห็นการเกิดของพระราหุลว่าเป็นที่มาของทุกข์ถึงขั้นทรงอุทานว่า “ราหุโล ชาโต พนฺธนํ ชาตํ – บ่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกเกิดแล้ว” การเกิดของพระราหุลถือว่าเป็นการเกิดทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม เพราะตัวท่านเองก็เป็นวัตถุกามซึ่งมีกิเลสกามผลักดันเช่นกัน และยังเป็นวัตถุกามที่ทำให้กิเลสกามของผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดด้วย ปฏิจจสมุปบาท ที่ผู้เขียนยกมากล่าวนั้น หากจะพูดถึงที่มาก็ตอบได้ว่า เกิดมาจากโพธิหรือปัญญาของพระพุทธเจ้า 3 ระดับคือ

  1. ระดับสุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาระดับสังเกตศึกษาปรา กฏการณ์ในชีวิตประจำวันทั้งที่เกิดแก่ผู้อื่นและพระองค์เองแล้วจดจำพร้อมทั้งตั้งคำถามว่า ทำไม ? อย่างไร ?
  2. ระดับจินตามยปัญญา ได้แก่ ปัญญาระดับคิดวิเคราะห์หาคำตอบคำถามตามที่ตั้งไว้ (บางทีขั้นนี้พระองค์อาจจะยังใช้ตักกะบ้าง)
  3. ระดับภาวนามยปัญญา ได้แก่ ปัญญาระดับโพธิที่เกิดจากการฝึกสมาธิและวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นรู้แจ้งละกิเลสได้และคลี่คลายความสงสัยลงไปตามลำดับปัญญา 3 ระดับนี้ ปัญญา 2 ระดับแรกเป็นฐานให้เกิดปัญญาระดับสุดท้ายซึ่งมีสมาธิและวิปัสสนาเป็นฐาน และจัดได้ว่าเป็น “โพธิ” คือ ปัญญารู้แจ้ง ที่พ้นจากการกำหนดหมาย
    การตีความ และการคาดคะเนทั้งปวง

ปฏิจจสมุปบาทในรูปของอริยสัจ และคำสอนรูปอื่น ๆ หลังจากศึกษาปฏิจจสมุปบาท ผู้เขียนพบว่าพระพุทธเจ้านำ
ปฏิจจสมุปบาทมากระจาย ในรูปคำสอนต่าง ๆ ดังนี้

  1. กระจายเป็นอริยสัจ
    พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งความจริงด้วยการค้นหาตามรูปแบบของปฏิจจสมุปบาท คือ เริ่มจากทุกข์แล้วสาวไปหาเหตุเกิดทุกข์ดังที่ได้แสดงมาแล้ว วิธีการนี้เหมาะที่ใช้ในการสืบสาวหาความจริง เนื่องจากเป็นไปตามขั้นตอนและพบการอิงอาศัยกันในลักษณะเป็นปัจจัยเกื้อกูลกันและด้วยวิธีการนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงทรงแยกแยะได้ชัดเจนในเบื้องต้นว่า อะไรคือทุกข์ ? และอะไรคือเหตุเกิดทุกข์ ? แล้วจากนั้นจึงทรงศึกษาลงลึกถึงทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ทั้งในด้านสภาวะ(ลักษณะเฉพาะ) การเกิดและความเกี่ยวข้องกัน หลังจากนั้นก็ทรงศึกษาลงลึกถึงการดับทุกข์และทางถึงความดับทุกข์ทั้งในด้านสภาวะการเกิดและความเกี่ยวข้องกันจนกระทั่งทรงพบว่า ทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ดับได้แน่ โดยทรงระบุว่าต้องดับอวิชชาไม่ให้เหลือ (อวิชชาย อเสสวิราคนิโรธา) เนื่องจากอวิชชาสัมพันธ์อยู่กับตัณหาและอุปาทาน เมื่อดับอวิชชาก็เท่ากับดับตัณหาและอุปาทานด้วย และเมื่อดับอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้ สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนาก็ดับ ซึ่งหมายความว่า สังขาร ฯลฯ เวทนา ที่เป็นฝ่ายอกุศลดับไป ส่วนฝ่ายกุศลที่เหลืออยู่ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสเนื่องจากตัวการคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานดับลงแล้ว เมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่มีเหตุเกิดทุกข์และเมื่อไม่มีเหตุเกิดทุกข์ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ แต่น่าสังเกตว่าในปฏิจจสมุปบาทสายดับทุกข์พระพุทธเจ้าทรงแสดงเฉพาะการดับทุกข์ไม่ทรงระบุถึงทางดับทุกข์คืออริยมรรคไว้ หรืออาจจะเสนอไว้เป็นนัยในคำว่า “อเสสวิราคนิโรธา” (การดับอวิชชาโดยคลายความรักออกได้ไม่มีเหลือ) ก็ได้ แต่มาทรงเสนอวิธีการปฏิบัติตามอริยมรรค (วิธีที่ทำห่างไกลจากกิเลส วิธีที่ทำให้ละกิเลสได้) ไว้ชัดเจน เมื่อคราวที่ทรงจัดความรู้นั้นไว้ในรูปของอริยสัจ 4 ดังปรากฏในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในที่นั้นทรงเรียกทางดับทุกข์ว่า “มัชฌิมา ปฏิปทา” คือ ทางสายกลางที่อยู่ระหว่างที่สุดโต่ง คือ การทรมานตนเองให้ล าบากกับการทำตนเองให้หมกมุ่นในกามสุข และทรงขยายความว่า คือ “อริยมรรคมีองค์ 8” หรือ ทางที่ทำให้ห่างไกลจากกิเลส 8 ประการ

การที่ทรงนำขั้นตอนของ ปฏิจจสมุปบาทมา จัดเสนอในรูปของอริยสัจ 4 ก็เพราะทรงเห็นว่าหากจะทรงสอนตามสูตรปฏิจจสมุปบาทตามที่ทรงแสดงไว้ก็จะทำให้เข้าใจยาก เพราะการไม่แยกให้ชัดเจนและการลงสู่รายละเอียดมากอาจทำให้ผู้ฟังสับสนได้ในที่สุดก็ทรงเห็นว่ารูปแบบของอริยสัจ 4 ที่ทรงปรับมาจากปฏิจจสมปุบาทนั้นเหมาะสมที่จะได้นำมาสอน เพราะทรงนำปฏิจจสมุปบาท 2 สายมารวมกันแล้วกระจายแต่ละสายออกไปให้เห็นชัดเจนโดยยกผลเป็นตัวตั้งก่อนแล้วตามด้วยเหตุ ดังนี้

  1. สายเกิดทุกข์ คือสายที่กล่าวถึงทุกข์กับเหตุเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงเสนอทุกข์ก่อนแล้วตามด้วยเหตุเกิดทุกข์ นั่นก็คือ ทรงเสนอผลก่อนแล้วตายด้วยเหตุ เนื่องจากผลปรากฏชัดเป็นที่เข้าใจง่าย ทรงเรียกผลนั้นว่า ทุกข์ (สภาวะบีบคั้น) ประกอบด้วย ความเกิด ความแก่ ความตาย ความเสียใจ ความครวญ ฯลฯ ความเครียด จากนั้นจึงทรงเสนอเหตุเกิดทุกข์ตามมาเพื่อให้สืบสาวว่าทุกข์ต่าง ๆ นั้นมาจากเหตุอะไร แต่ในที่นี้ทรงเสนอเพียงตัวเดียว คือ ตัณหา เพราะว่าเป็นเหตุเกิดทุกข์ที่มีสภาวะหยาบกว่าอวิชชาและอุปาทานและแสดงอาการออกมาชัดเจน
    กว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังสัมพันธ์อยู่กับอวิชชาและอุปาทาน เนื่องจากกิเลส 3 ตัวนี้เกิดร่วมกันเสมอไม่เคยเกิดแยกกัน ต่างแต่ว่าบางขณะตัวใดตัวหนึ่งอาจนำและที่เหลือก็เกิดคล้อยตามหรือ
  2. สายดับทุกข์ คือสายที่กล่าวถึงการดับทุกข์กับทางหรือวิธีสู่การดับทุกข์ พระองค์ทรงเสนอการดับทุกข์ก่อนแล้วตามด้วยวิธีการดับทุกข์ ทรงเสอนการดับทุกข์ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ที่ทรงสอนว่าทุกข์นั้นดับได้แน่นอนแก้ไขได้แน่นอน และมีการดับอย่างเป็นขั้นตอน คือ ข่มไว้ด้วยการเข้าสมาธิไม่เปิดช่องให้ตัณหาเกิดขึ้นครอบงำจิต (วิกขัมภนนิโรธ) ดับด้วยการเข้าใจทั้งทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ตามความเป็นจริงซึ่งท าให้ทุกข์บรรเทาลงหรือหายด้วยวิปัสสนาเป็นการดับชั่วคราว (ตทังคนิโรธ) และดับด้วยการละกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดตามกำลังของปัญญาที่เกิดขึ้น เป็นการดับได้เด็ดขาดในแต่ละขั้น (สมุจเฉทนิโรธ) การดับได้เด็ดขาดนั้นทำให้เกิดความสงบเย็นของจิตเนื่องจากละกิเลสที่เป็นเหตุของทุกข์ได้ (ปฏิปัสสัทธนิโรธ) และการดับกิเลสนั้นจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง กิเลสไม่กลับมาเกิดอีก (นิสสรณนิโรธ)

การดับ 2 ขั้นตอนแรกเป็นโลกิยะคือยังแปรเปลี่ยนได้ ส่วนการดับ 3 ขั้นตอนหลังเป็นโลกุตตระคืออยู่เหนือความแปรเปลี่ยน แต่การดับทุกข์ทั้งหมดนั้นเกิดมีได้เพราะการปฏิบัติตามวีธีการดับทุกข์ ทีทรงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือ มรรคมีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ (ความรู้ถูกต้อง) สัมมาสัมกัปปะ (ความคิดถูกต้อง) สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง) สัมมากัมมันตะ (การมีพฤติกรรมทางกายที่ถูกต้อง) สัมมาอาชีวะ (การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง) สัมมาวายามะ (การมีความเพียรอย่างถูกต้อง) สัมมาสติ (การมีสติอย่างถูกต้อง) สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิอย่างถูกต้อง)

การใช้มรรคมีองค์ 8 เพื่อการดับทุกข์ ทำได้โดยเริ่มจาก สัมมาทิฏฐิ คือ ทำความเข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นบีบคั้นให้ถูกต้องว่า เป็นทุกข์ประเภทใด เป็นสภาวทุกข์ คือ ทุกข์ที่เกิดเองไม่มีใครทำให้ คือ เกิด แก่ ตาย หรือเป็นอาคันตุกทุกข์ คือ ทุกข์ที่จรมาเป็นคราวเหมือนแขกมาเยี่ยม เช่น ความเสียใจ อันเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นต้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นเกิดมาจากอะไร สรุปแล้วก็รู้ว่า กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัสทางกาย) เป็นทุกข์

ความรู้ความเข้าใจย่อมมีผลต่อความคิด เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้วก็มีผลให้เกิดความคิดถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) คือ คิดออกจากกามแล้วทำให้เกิดความคิดที่ดีตามมา คือ คิดไม่โกรธเมื่อไม่ได้กามหรือพลัดพรากจากกาม และความคิดแบบไม่ทำตัวเองหรือคนอื่นให้ลำบาก

ความเข้าใจย่อมมีอิทธิพลต่อการกระทำ คำพูดและการดำเนินชีวิต เมื่อคิดถูกย่อมทำให้พูดถูก (สัมมาวาจา) คือ พูดคำจริง พูดคำอ่อนโยน พูดให้เกิดความสามัคคี พูดมีหลักฐานพูดถูกกาละ เทศะ มีพฤติกรรมทางกายที่ถูก (สัมมากัมมันตะ) คือ มีพฤติกรรมทางกายอ่อนโยนมีพฤติกรรมทางกายเกื้อกูลช่วยเหลือคนอื่น และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ) คือดำเนินชีวิตแบบไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม

กลับไปที่ สัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจถูกต้อง) และสัมมาสังกัปปะ (ความคิดถูกต้อง) ย่อมมีผลถึงการแสวงหาทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง คือ การเจริญสัมมาสติ (ความมีสติถูกต้อง)ด้วยการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน โดยมีความเพียร(ความกล้าแห่งจิต)ถูกต้อง (สัมมาวายามะ) คือกล้าระวังไม่ทำบาป กล้าละความชั่ว กล้าทำความดีให้เกิดขึ้น กล้ารักษาความดีที่ทำให้เกิดมีได้แล้วให้คงอยู่ เป็นฐานสนับสนุน เพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิ (ความมีสมาธิถูกต้อง) คือ การได้ความสงบของจิตถึงขั้นบรรลุฌาน แล้วสัมมาสมาธินั้นก็กลับไปหนุนสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ และมรรคอื่นให้เข้มแข็ง เพื่อให้ทำหน้าที่ดับทุกข์และเหตุเกิดทุกข์

พระพุทธเจ้าทรงเรียกแนวคำสอนนี้ว่า อริยสัจ 4 ซึ่งมีความหมายว่า 1. ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ (ประเสริฐ คือ จริงแท้ ไม่ผันแปร ไม่เป็นอย่างอื่น) 2. ความจริงที่รู้แล้วทำให้ห่างไกลจากกิเลสหรือทำให้ละกิเลส

ในการกระจายปฏิจจสมุปบาทเป็นอริยสัจ 4 สามารถทำให้เข้าใจด้วยตารางดังนี้

บทสรุป

ปฏิจจสมุปบาท คือ กระบวนธรรมที่นำไปสู่การตรัสรู้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยตัวพระองค์เองแล้วนำออกสอนชาวโลก โดยทรงปรับให้เป็นรูปแบบของอริยสัจ 4 เพื่อความเข้าใจง่าย ซึ่งจะเห็นว่าพระองค์ทรงแบ่งอริยสัจ 4 ออกเป็น
2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเกิดทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้หรือต้องรู้ให้ตลอด กับ ฝ่ายดับทุกข์ที่ต้องท าให้แจ้งประจักษ์ ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพว่า ทุกข์มาจากเหตุและทุกข์นั้นดับได้ด้วยวิธีการดับที่ต้องเริ่มต้นด้วยสติและปัญญา พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการ
นี้หลักการเดียวตลอดพระชนมชีพ แต่ทรงใช้วิธีการสอนหลากหลาย

ปัจจุบัน หลักการนี้ยังใหม่อยู่เสมอ เราสามารถนำความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมาใช้แก้ปัญหา และพัฒนาได้ ทั้งระดับชีวิตส่วนตัว ระดับสังคม ระดับองค์กรและระดับโลกแต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าเรามีความรู้เรื่องนี้ดีระดับไหน ความรู้ที่ดีระดับดีก็คือสามารถนำมาปรับใช้ได้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา

เมื่อดูการค้นพบปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าแล้วจะเห็นว่า พระองค์ทรงใช้ปรากฏการณ์รอบตัวเป็นแหล่งความรู้ โดยทรงเริ่มมองจากข้างนอกเข้ามาหาตัวพระองค์เอง จนกระทั่งทรงมั่นพระทัยว่าตัวพระองค์เองกับคนอื่นประสบปัญหาอย่างเดียวกัน แล้วจากนั้นก็ทรงค้นหาจากตัวพระองค์เองไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทรงพบความจริงไปทีละขั้น ๆ ว่า เหตุแห่งปัญหาคืออะไร ? อะไรคือเหตุหลัก ? อะไรคือเหตุรอง ? พระองค์จะแก้เหตุไหนก่อน ? และจะแก้ด้วยวิธีอย่างไร ?

เรียบเรียงเนื้อหาโดย มูลนิธิบ้านธรรมธารา

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระไตรปิฎกภาษาบาลี.