วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

โสตาปัตติยังคะ ๔ คุณสมบัติของโสดาบัน

โสดาปัตติยังคะ ๔ แสดงถึง องค์คุณของพระโสดาบัน, ใช้สำหรับสำรวจคุณสมบัติของบุคคลโสดาบัน บางแห่งเรียกว่า แว่นส่องธรรม

มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระพุทธเจ้า
มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระธรรม
มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระสงฆ์
มีศีลสมบูรณ์

      ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งการจะมีคุณสมบัติดังนี้ได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติอื่นที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น การที่ศรัทธาหยั่งรากลงมั่นย่อมเป็นผลจากปัญญาที่รู้เห็นประจักษ์แจ้งกับตัวเองแล้วบางส่วน จึงสิ้นสงสัยในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และกิเลสที่เบาบางลงก็เป็นเหตุให้ความมีศีลสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นมาเองเป็นธรรมดา

     (ข้อสังเกตส่วนตัว : ธรรมหมวดนี้ไม่ได้แสดงเหตุให้บรรลุโสดาบัน แต่แสดงผลหรือคุณสมบัติของผู้บรรลุโสดาบันที่เกิดขึ้นเองเป็นปกติ เหตุแห่งการบรรลุดู ปัญญาวุฒิธรรม ๔ หรือกล่าวตามหลักมาตรฐาน คือ เจริญมรรค ๘)

ปัญญาวุฒิธรรม ๔

      ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญาตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์ บางครั้งก็เรียก โสดาปัตติยังคะ ๔ แต่ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระโสดาบันและเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป

สัปปุริสังเสวะ (คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ)

สัทธัมมัสสวนะ (ฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง)

โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี, การรู้จักคิดพิจารณาด้วยใจที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่เอนเอียง ไม่มีอคติ ไม่ยึดติดทั้งในทางชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้สามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง)

ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมหลักน้อยคล้อยตามหลักใหญ่, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ)

โสตาปัตติยังคะ ๔

1. เลื่อมใสอัน หยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า
2. เลื่อมใส อันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระธรรม
3. เลื่อมใสอัน หยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
4. เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีล ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย

โสตาปัตติยังคะสี่ (คุณสมบัติ ๔ ประการของโสดาบัน)

         คหบดี ! อริยสาวกเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยองค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่าไหนเล่า ?

         (๑) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความ เลื่อมใสอัน หยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึง พร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถ ฝึกคนที่ควรฝึก ได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้.

         (๒) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความ เลื่อมใส อันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ว่า “พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มี พระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควร น้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน” ดังนี้

         (๓) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความ เลื่อมใสอัน หยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ว่า “ สงฆ์สาวกของพระผู้มี พระภาคเจ้า เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่อง ออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่ สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นสงฆ์ควรรับ ทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่ บุคคลทั่วไปจะพึงทำอัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า” ดังนี้

         (๔) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีล ทั้งหลาย ในลักษณะเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า : เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา วิญญูชนสรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิลูบคลำ เป็นศีลที่เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ดังนี้.

         คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยองค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่านี้แล.

         คหบดี ! ก็ อริยญายธรรม เป็นสิ่งที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้ว ด้วยดี ด้วยปัญญา เป็นอย่างไรเล่า ? คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำไว้ในใจ โดยแยบคาย เป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว

         ดังนี้ว่า“เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.

เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

         ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือเพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมี สังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ…ฯลฯ… ..เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

         เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับ แห่งสังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ …ฯลฯ… …เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาส ทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”

         คหบดี ! อริยญายธรรม๑ นี้แล เป็นธรรมที่อริยสาวกนั้นเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้ว ด้วยดีด้วยปัญญา. คหบดี ! ในกาลใดแล ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อริยสาวก ทำให้สงบรำงับได้แล้วด้วย

         อริยสาวกเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะสี่เหล่านี้ ด้วยอริยญาย ธรรมนี้ เป็นธรรมอันอริยสาวกในกาลนั้น อริยสาวกนั้นปรารถนาอยู่ ก็พยากรณ์ตน เห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดี ด้วยปัญญาด้วย ด้วยตนนั้นแหละว่า

         “เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (แห่งนิพพาน) มีความไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า” ดังนี้ และนี่คือ ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เรียบเรียงเนื้อหาโดย มูลนิธิบ้านธรรมธารา

ที่มา อนาคามี , บันทึกจากการศึกษาพุทธธรรม

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๔๘